วงแหวนแห่งไฟ คือหายนะจริงหรือ ?!
Mar 16th, 2011
Mar 16th, 2011
หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ พร้อมกับสึนามิที่สูงขนาด 10 เมตร ถาโถมใส่เมืองชายฝั่งของประเทศญี่ปุ่นจนราบเป็นหน้ากลอง
เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ได้สร้างความเสียหายอันประเมินค่ามิได้ ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นเอง จะเป็นประเทศที่มีระบบ และการเตรียมพร้อมรับมือการเกิดแผ่นดินไหว หรือสึนามิที่ดีที่สุดในโลกแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถพ้นภัยพิบัติธรรมชาติอันโหดร้ายครั้งนี้ไปได้
ทันทีที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น หลายคนหยิบเอาเรื่องที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ใน “วงแหวนแห่งไฟ” ขึ้นมาพูด และยิ่งได้ทราบข้อมูลว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวกว่า 90% ทั่วโลก เกิดใน “วงแหวนแห่งไฟ” ก็ยิ่งทำให้คนสนใจว่า “วงแหวนแห่งไฟ” คืออะไร และมีประเทศใดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงบ้าง
สำหรับ “วงแหวนแห่งไฟ” หรือที่เรียกว่า “Pacific Ring of Fire” หรือ “The Ring of fire” นั้น หมายถึงบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง มีลักษณะเป็นเส้นเกือกม้า มีความยาวประมาณ 40,000 กิโลเมตร วางตัวพาดผ่านแนวร่องมหาสมุทร แนวภูเขาไฟ และขอบแผ่นเปลือกโลก ไล่ไปตั้งแต่ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปอเมริกาใต้ มีประเทศที่อยู่ในพื้นที่ “วงแหวนแห่งไฟ” ทั้งหมด 31 ประเทศ ได้แก่
เบลีซ
โบลิเวีย
บราซิล
แคนาดา
โคลัมเบีย
ชิลี
คอสตาริกา
เอกวาดอร์
ติมอร์ตะวันออก
เอลซัลวาดอร์
ไมโครนีเซีย
ฟิจิ
กัวเตมาลา
ฮอนดูรัส
อินโดนีเซีย
ญี่ปุ่น
คิริบาตี
เม็กซิโก
นิวซีแลนด์
นิการากัว
ปาเลา
ปาปัวนิวกินี
ปานามา
เปรู
ฟิลิปปินส์
รัสเซีย
ซามัว
หมู่เกาะโซโลมอน
ตองกา
ตูวาลู
สหรัฐอเมริกา
การกำเนิดของ “วงแหวนแห่งไฟ” นั้น สืบเนื่องมาจากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่มาชนกัน และมุดตัวซ้อนกันในแต่ละทวีปเมื่อหลายล้านปีก่อน คือ
– แผ่นนาซคา ชนกับแผ่นอเมริกาใต้ กลายเป็นเทือกเขาแอนดีส และทำให้เกิดภูเขาไฟหลายแห่ง เช่น ภูเขาไฟโกโตปักซี ประเทศเอกวาดอร์
– แผ่นโคคอสในอเมริกากลาง ชนกับแผ่นอเมริกาเหนือ
– แผ่นฮวนดีฟูกา และแผ่นกอร์ดามุดตัวลงในแผ่นอเมริกาเหนือ และบริติช โคลัมเบีย บริเวณเกิดภูเขาไฟเซนต์ เฮเลนส์ ในสหรัฐอเมริกา และครั้งล่าสุดระเบิดไปเมื่อปี ค.ศ.1980
– ทางตอนเหนือที่ติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของแผ่นแปซิฟิก มุดตัวลงใต้บริเวณเกาะเอลูเชียนจนถึงทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น บริเวณนี้จึงเกิดภูเขาไฟฟูจิที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
– ทางตอนใต้มีแผ่นเปลือกโลก ขนาดเล็กมากมายติดกับแผ่นแปซิฟิก ทำให้เกิดภูเขาไฟทั้งในนิวกินี ไมโครนีเซียน
“วงแหวนแห่งไฟ” ยังมีแนวต่อไปยังแนวอัลไพน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวที่มีการเกิดแผ่นดินไหวด้วย โดยมีจุดเริ่มต้นจากเกาะชวา และเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย โดยการชนและมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกนี้เอง
ทำให้บริเวณ “วงแหวนแห่งไฟ” นี้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยที่สุดในโลก คิดเป็น 90% ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในโลก และยังคิดเป็น 80% ของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นด้วย
ดังเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองไครส์เชิร์ต ประเทศนิวซีแลนด์ ตามมาด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ล้วนเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแนว “วงแหวนแห่งไฟ” เช่นเดียวกัน
เมื่อพิจารณาข้อมูลเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก ก็จะพบว่า ล้วนเกิดในบริเวณ “วงแหวนแห่งไฟ” แทบทั้งสิ้น โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดในโลก 5 อันดับแรกได้แก่
อันดับที่ 1 : 22 พฤษภาคม ค.ศ.1960 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.5 ริกเตอร์ ที่เมือง Valdivia ประเทศชิลี
อันดับที่ 2 : 27 มีนาคม ค.ศ.1964 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.2 ริกเตอร์ ที่อลาสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา
อันดับที่ 3 : 26 ธันวาคม ค.ศ.2004 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งครั้งนี้ทำให้เกิดคลื่นสึนามิกระทบมายังประเทศไทย จนมีผู้เสียชีวิตหลายพันคนในประเทศไทย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากประเทศที่ได้รับผลกระทบรวมกว่า 230,000 คน
อันดับที่ 4 : 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1952 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ที่ KamChatka ประเทศรัสเซีย
อันดับที่ 5 : 11 มีนาคม ค.ศ.2011 เกิดแผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่พัดถล่มประเทศญี่ปุ่นเสียหายเป็นจำนวนมาก
ขอบคุณที่ได้ข้อมูลหนี
ตอบลบ