วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

เตือนไทยสุดเสี่ยง หลังสึนามิถล่มญี่ปุ่นโลกเข้าสู่ภัยพิบัติ หาดพัทยา - อันดามันจม!!

เตือนไทยสุดเสี่ยง หลังสึนามิถล่มญี่ปุ่นโลกเข้าสู่ภัยพิบัติ หาดพัทยา - อันดามันจม!!!
โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์17 มีนาคม 2554 09:02 น.
*สมิทธ ส่งสัญญาณโลกเสี่ยง หลังแกนโลกเอียงเพิ่ม
*โหรดังทำนาย พ.ค.ไทยจ่อคิวเจอสึนามิถล่มอันดามัน
*เตรียมรับมือพลังงาน-สินค้าเกษตร ราคาพุ่งกระฉูด!!

ยังคงเป็นวิกฤตการณ์ต่อเนื่องที่ส่อเค้าว่ายังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ แม้แผ่นดินไหวสูงถึง 9.0 ริกเตอร์และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นผ่านพ้นไปแล้ว 1 สัปดาห์ แต่สิ่งที่หลายฝ่ายทั่วโลกวิตกกังวลขณะนี้ นอกจากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการระเบิดของโรงไฟฟ้าปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวน 4 แห่งจาก 6 แห่งของญี่ปุ่น (ตัวเลข ณ วันที่ 16 มีนาคม 2554) ที่เมืองฟูกูชิมะ

ยังมีประเด็นเรื่อง การเปลี่ยนแปลงของแกนโลก ซึ่งครั้งนี้ถูกระบุว่า แผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้แกนโลกเปลี่ยนไปและยังทำให้เกาะฮอนชูของญี่ปุ่นขยับไปทางตะวันออกอีก 8 ฟุต จากรายงานของสถาบันธรณีฟิสิกส์จากสหรัฐอเมริกาและอิตาลี

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ของอเมริกา พบว่า ระบบหาพิกัดดาวเทียม ได้เคลื่อนไป 8 ฟุต และเมื่อดูจากแผนที่ของสำนักงานข้อมูลภูมิสารสนเทศ หรือ GSI ในญี่ปุ่น ก็พบว่า ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ขณะที่รายงานของสถาบันธรณีฟิสิกส์และภูเขาไฟในอิตาลี ได้ประเมินว่า แผ่นดินไหวที่มีแรงสั่นสะเทือนถึง 8.9 ริกเตอร์ ทำให้เแกนโลกขยับไปเกือบ 10 เซนติเมตร เช่นกัน ทั้งนี้ การขยับตัวของแกนโลก หลังจากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้วเช่นกัน ล่าสุด คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.8 ริกเตอร์ที่ประเทศชิลี เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 ครั้งนั้น มีนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์เที่ยวบิน องค์กรบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือนาซา ยืนยันว่า ทำให้แกนของโลกเอียงไปจากตำแหน่งเดิม 8 เซนติเมตร

บิ๊กมูฟจากแผ่นดินไหว

ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์นาซาคนดังกล่าว มองว่า แม้จะไม่สำคัญเท่าใดนัก แต่ก็เปลี่ยนไปจากตำแหน่งเดิมอย่างถาวร อีกทั้งยังส่งผลให้ระยะเวลาใน 1 วันสั้นหรือช้าลงไป 1.26 ไมโครวินาที (1 ไมโครวินาที เท่ากับ 1 ในล้านวินาที) เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่ส่งผลต่อการหมุนรอบตัวเองของโลก มีผลไปถึงการกำหนดระยะเวลาของวันด้วย นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองโดยเปรียบเทียบกับนักสเกต หากใช้แขนแกว่งเข้าช่วย จะทำให้การเคลื่อนที่เร็วขึ้น

ขณะที่นักธรณีฟิสิกส์ของห้องทดลองขับเคลื่อนพลังงานไอพ่นขององค์การนาซา เมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย ก็เคยทดลอง โดยใช้คอมพิวเตอร์จำลองแบบเหตุแผ่นดินไหว 8.8 ริกเตอร์ ที่ชิลี เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ว่าจะมีผลอย่างไรต่อโลกบ้าง และพบว่าแกนของโลกเอียงไป 3 นิ้ว หรือ 8 ซม. ซึ่งหากแกนโลกเอียงจากเดิมจะทำให้ระยะเวลาสั้นลงไป ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาได้มีแผ่นดินไหว 9.1 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 เกิดคลื่นยักษ์สึนามิรุนแรง และทำให้เวลาสั้นลงไป 6.8 ไมโครวินาทีเช่นกัน

แกนโลกเอียง
เหวี่ยงอากาศรุนแรง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแกนโลกเอียงนั้น ในมุมมองของนักฟิสิกส์ นักธรณีวิทยา และนักวิชาการด้านอุตุนิยมวิทยาของไทยในปัจจุบัน เห็นพ้องกันว่า เมื่อแกนโลกเอียงมากขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลกอย่างแน่นอน ส่วนจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับว่า แกนโลกที่เอียงนั้น มีองศามากหรือน้อยขนาดไหน หากแกนโลกเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ ซึ่งมีพลังงานความร้อนสูง จะทำให้อากาศของโลกร้อนจัดขึ้น แต่หากแกนโลกเอียงออกจากดวงอาทิตย์ ทำให้อากาศโลกเย็นหรือหนาวมากขึ้น

“จากนี้ไปสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแน่นอน เพราะการเอียงของแกนโลกกับดวงอาทิตย์มีความสัมพันธ์กัน เพราะไม่ว่าแกนโลกจะเอียงเข้าหรือเอียงออก มันมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลกอย่างแน่นอน” สมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ความเห็นกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์”

เช่นเดียวกับ นักวิชาการฟิสิกส์ ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเช่นกันว่า หากแกนโลกเอียงมากขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เพราะโลกไม่สามารถปรับเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง หรือยุคอบอุ่นได้ตามวัฏจักร เนื่องจากแกนโลก มีความสัมพันธ์กับการเกิดฤดูกาล และช่วงเวลาระหว่าง กลางวัน และกลางคืน ซึ่งเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น อาจารย์สมิธ บอกว่า อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลศึกษาอย่างละเอียด โดยพิจารณาว่า แกนโลกเอียงขนาดใด เอียงแล้วผลกระทบต่อรังสีดวงอาทิตย์เป็นอย่างไรบ้าง เพราะขณะนี้รังสีจากดวงอาทิตย์ระเบิดอยู่ มีลมสุริยะออกมา จะมีผลกระทบต่อพื้นโลกแค่ไหน จะทำให้อากาศร้อนมากขึ้นหรือไม่ ฤดูกาลจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือฤดูกาลยาวนานขึ้นหรือไม่ ขณะนี้ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว โดยเฉพาะฝนไม่ตกเป็นแรมเดือน

กรณีแกนโลกเอียงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้เคยส่งผลกระทบต่อโลกและประเทศต่างๆมาแล้ว โดยเมื่อปี 2552 อาจารย์สมิธได้ศึกษาข้อมูลจากสมาคมดาราศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ ระบุว่า โดยขณะนี้ (เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา) โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในรอบ 9 หมื่นปี ทำให้โลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ หากแกนของโลกขนานกับดวงอาทิตย์ หรือแกนของโลกเอียงมากขึ้น ซึ่งปรกติแกนโลกที่เอียง 22.5 องศา

แต่เวลานั้นได้เอียงผิดปรกติ เข้าหาดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเป็น 24 องศา (จากคำยืนยันของ สมาคมดาราศาสตร์ไทย) ทำให้เกิดสภาวะขั้วโลกเหนือเย็นลงและมีมวลอากาศเย็นมาถึงเส้นศูนย์สูตร ทำให้อากาศหนาวเย็นนาน และมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือรุนแรง ทำให้เกิดคลื่นซัดฝั่งในอ่าวไทยภาคตะวันออก ทำให้เกิดความเสียหายหลายแห่ง ขณะเดียวกัน เมื่อพ้นฤดูหนาวไปแล้ว แกนของโลกเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ในเดือนกรกฎาคมมากที่สุด ทำให้ซีกโลกภาคเหนือรวมทั้งประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูง มีการคาดการณ์ว่าโลกอุ่นขึ้นและร้อนขึ้นในพื้นที่ซีกโลกภาคเหนือ

“เวลานั้น (ปี 2552) ซีกโลกเหนือหันเข้าดวงอาทิตย์อากาศอุ่น แต่ออสเตรเลียอยู่ในพื้นที่โลกที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิประเทศสูงมากถึง 45 องศา ทำให้เล่นกีฬากลางแจ้ง เช่น เทนนิส กันไม่ได้เลย”

สำหรับสาเหตุของแกนโลกเอียงนั้น อาจารย์สมิธ บอกว่า เป็นธรรมชาติของโลกที่หมุนเอียงในลักษณะแบบนี้ทุก 41,000 ปี โดยทุกๆ ปี 41000 ปี โลกจะเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ จากนั้นตั้งตรงและเอียงออกจากดวงอาทิตย์ ถือเป็นวัฏจักรธรรมชาติ ซึ่งในครั้งนั้นอาจเป็นรอบ 41,000 ปีก็เป็นได้ แต่สมมติฐานนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าว ยังเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน เพราะการโคจรของโลกในวงจรวงรี ซึ่งหมายความว่า ในวงรีจะมีส่วนที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดจังหวะหนึ่ง และห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดจังหวะหนึ่ง มันมีผลกระทบต่อโลกอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่ถ้าหากมนุษย์ทำให้พื้นที่โลกร้อนขึ้น โดยพลังงานอื่น ก็ทำให้บรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้ต้นปีอากาศหนาวนาน มีอากาศร้อนสูงขึ้น มีฝนตกหนักน้ำท่วม รวมทั้งมีพายุบ่อยครั้งขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิภูมิอากาศของโลกไม่ว่า ร้อนจัดขึ้น หรือเย็นมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว จาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) เป็นหนึ่ง วานิชชัย ยังบอกว่า อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติประเภทต่างๆ ตามมา อาทิ การเกิดพายุไซโคลนเพิ่มขึ้น มีฝนตกหนักและมากขึ้น น้ำท่วมและโคลนถล่ม หรือบางพื้นที่แห้งแล้งมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ แต่ผลกระทบต่อภัยพิบัติด้านแผ่นดินไหวหรือคลื่นยักษ์สึนามิ จะไม่มีผลเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ เพราะกลไกการเกิดปัญหาคนละประเภทกัน

แกนโลกเอียง
วัฏจักรธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม การส่งผลกระทบต่อโลก กรณีแกนโลกเอียงมากขึ้นและทำให้เวลาสั้นลงนั้น นักวิชาการบางส่วน มองว่า เป็นเพียงการขยับของเปลือกโลกไม่ใช่แกนโลก ไม่น่าจะส่งผลต่อโลก โดยเป็นภาวะปรกติของโลกที่เอียงและหมุนรอบตัวเอง และหมุนเอียงที่ระดับบวกและลบ 23.5-24 องศา เป็นภาวะปรกติอยู่แล้ว มีการเปลี่ยนกลับไปกลับมาเป็นคาบ โดยใช้ระยะเวลานานถึง 41,000 ปี และเป็นแบบนี้มานานถึง 600,000 ปี และจะมีการเอียงแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล นักวิชาการ ภาคธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การขยับของแกนโลกดังกล่าว ไม่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลกแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นวัฏจักรหมุนเวียนเกิดขึ้นมาหลายล้านปีอยู่แล้ว หากพิจารณาจากหลักวิชาการเกี่ยวกับแกนโลก ประกอบด้วย 3 แกน ได้แก่ แกนที่ 1 เรียกว่า Earth Pole แกนโลก มีองศาอยู่ 22.5-24.5 หมุนรอบตัวเองและมีแรงขยับในวงรอบละ 41,000 ปี ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า แกนโลกนี้มีการขยับเป็นมุมน้อยลงประมาณ 0.475 พิลิปดาต่อปี มันเป็นวัฏจักร ทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง

แกนที่ 2 เรียก Magnetic Pole หรือแกนขั้วแม่เหล็กโลก เป็นแกนที่บางครั้งมีการสลับขั้วแบบเหนือ-ใต้ เป็นกลไกอีกวัฏจักร ส่วนแกนที่ 3 Earth Figure Axist แกนรูปทรงสัณฐานโลก เป็นแกนระบุว่า โลกไม่ได้มีลักษณะกลมเหมือนลูกปิงปอง แต่มีลักษณะแป้นคล้ายผลส้ม ตรงกลางป่อง และด้านบนมีลักษณะแบน โดยแกนดังกล่าวนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ทั้งนี้ แกนโลกที่ 1 และแกนที่ 3 มีลักษณะสัมพันธ์กัน พบว่า การขยับของแกนโลกจริงๆแบบที่ 1 มันทำให้เกิดการขยับตัวของเปลือกโลกเร็วขึ้น เนื่องจากจุดศูนย์ถ่วงเปลี่ยน เพราะกลไกเปลือกโลกเหมือนเปลือกไข่ที่มีรอยร้าว โดยข้างในมีเนื้อไข่ ดังนั้นเมื่อแกนโลกขยับด้วยมุมน้อยลง ทำให้เปลือกโลกมีการขยับตัวเร็วขึ้น ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวตามที่ต่างๆ โดย 10 ปีที่ผ่านมาแกนโลกขยับแล้วเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ประเทศต่างๆ ขณะเดียวกัน ก่อให้เกิดการสมดุลของรูปทรงโลก ยกตัวอย่าง เช่น แผ่นดินไหวที่ชิลี มีการขยับตัวของแกนโลกประมาณ 3 เมตร โดยปี 2004 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9. 1 ริกเตอร์ บริเวณอาเจะ ของอินโดนีเซีย มีการขยับตัวแกนโลกประมาณ 2 เมตร

ล่าสุดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นขนาด 9 ริกเตอร์มีการขยับตัวไปทางตะวันออกประมาณ 2.40 เมตร อันทำให้รูปทรงเปลี่ยน อันทำให้แกนรูปทรงโลกเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งปกติแกนโลกที่ 1 และแกนโลกที่ 3 มีระยะห่างกันประมาณ 10 เมตร ไม่ใช่แกนเดียวกัน ทำให้โลกหมุนรอบตัวเองช้าลงประมาณ 1.6 ไมโครเซค ดังนั้น จึงไม่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลกแต่อย่างใด

ไทยเสี่ยง “หาดพัทยาจม”
ท่องเที่ยวฝั่งอันดามันสูญ 1.3 หมื่นไร่

ด้านศูนย์วิจัย SCB EIC ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ โดยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย เมธินี จงสฤษดิ์หวัง ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเสี่ยงสูงสุดจากผลกระทบของ Climate change ในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยมีความเสี่ยงเอ็นอันดับ 14 จาก 170 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ ความหมายแท้จริง Climate Change นี้ นักวิเคราะห์ของศูนย์วิจัย SCB ระบุว่า ไม่ใช่แค่อากาศร้อนขึ้น หรือที่เรียกว่า global warming แต่ยังรวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นด้วย คือฤดูร้อนจะร้อนขึ้น แล้งขึ้นและกินเวลานานขึ้น ฤดูหนาวจะสั้นลง ปริมาณฝนแปรปรวนสูงและผิดฤดูกาล และภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น ผลกระทบของClimate Change หลัก มี 3 ส่วน ได้แก่ (1) ความต้องการพลังงานและราคาพลังงาน (2) ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและราคาสินค้าเกษตร (3) ปริมาณและคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวรวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย

“ตัวอย่างผลกระทบที่เห็นชัดเจน คือ การกัดเซาะชายฝั่งและปัญหาปะการังฟอกขาว ซึ่งกระทบแหล่งท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด หากปล่อยทิ้งไว้และสถานการณ์กัดเซาะรุนแรงขึ้น ภายในเวลา 5 ปี พื้นที่ชายฝั่งอันดามันอาจหายไปสูงสุดถึง 13,000 ไร่ เช่นเดียวกับหาดพัทยาที่อาจหมดไป นอกจากนี้ อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังทำให้เกิดปะการังฟอกขาวที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย”

ดังนั้น Climate change จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะ climate change ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ก่อให้เกิดข้อตกลงและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น เปิดโอกาสให้มีการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นสำหรับสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่ามาตรฐาน การออกกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่มีการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือแม้แต่การนำรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) มาใช้ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นแรงกดดันทางการค้าและความท้าทายให้ธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัว

ภาพจากสมาคมดาราศาสตร์ไทย
Super Moon ลางบอกเหตุ ?

นอกจากปรากฎการณ์ดังกล่าว ในคืนวันที่ 19 ต่อเนื่องถึง 20 มีนาคม 2554 คาดการณ์กันว่าจะเกิดSuper Moon หรือดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก ถูกนำมาเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และเกิดสึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 11 มีนาคมที่ผ่านมาหรือไม่ โดยที่ก่อนหน้านั้นได้มีนักโหราศาสตร์อย่างเคน ริง ได้เคยทำนายเหตุการณ์ซูเปอร์มูนไว้เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ว่าจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองไครซท์เชิร์ท ประเทศนิวซีแลนด์ระหว่าง 15-28 กุมภาพันธ์ และได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจริงในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นเพียง 3 สัปดาห์ก็เกิดเหตุขึ้นที่ญี่ปุ่น

การที่ดวงจันทร์โคจรมาใกล้โลกเมื่อคืนวันที่ 19 มีนาคมนับว่าเป็นการโคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 19 ปี ส่งผลให้เราจะได้เห็นดวงจันทร์ดวงใหญ่ขึ้นกว่าเดิม 14% และแสงสว่างจากดวงจันทร์จะเพิ่มขึ้นกว่าดวงจันทร์เต็มดวงช่วงปกติอีก 30%

แม้ว่าในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์จะให้ความสำคัญกับปรากฎการณ์ของดวงจันทร์ มีผลต่อระดับน้ำขึ้นน้ำลงเท่านั้น ไม่น่าจะมีผลต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ แต่หากย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดซูเปอร์มูนได้เคยเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเช่น ในปี ค.ศ.1938 พายุเฮอริเคนได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับซูเปอร์มูน ในปี ค.ศ.1955 ได้เกิดน้ำท่วมในฮันเตอร์วัลเลย์ ในออสเตรเลียในช่วงซูเปอร์มูนเช่นกัน และในปี ค.ศ.1974 ซูเปอร์มูนก็เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับพายุไซโคลนเทรซี่ ที่สร้างความเสียหายมหาศาลในเมืองดาร์วิน ออสเตรเลีย ส่วนในปี ค.ศ.2005 ก่อนที่จะเกิดปรากฎการณ์ซูเปอร์มูนเพียงไม่กี่วัน ก็มีเหตุการณ์สึนามิเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย คร่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นคน ทำให้หลายคนเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่การเกิดซูเปอร์มูนครั้งนี้จะมาพร้อมกับภัยพิบัติบางอย่างเช่นกัน

ไม่ว่าความเกี่ยวพันธ์ระหว่างปรากฎการณ์ Super Moon จะมีส่วนต่อการเกิดภัยพิบัติในโลกนี้ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมจริงหรือไม่ แต่ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกในทุกวันนี้สังเกตุได้ว่ามีความถี่และรุนแรงมากขึ้น ยากที่จะคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและจะกวาดต้อนชีวิตของผู้คนไปมากน้อยเพียงใด

************

Climate change มหันตภัยร้าย
ดันราคาพลังงาน-พืชผลเกษตรทะยาน

Climate change ภัยใกล้ตัว ดันราคาพลังงาน-สินค้าเกษตรแพงสุดขั้ว แถมทำลายแหล่งท่องเที่ยวอันดามันและอ่าวไทย SCB EIC ฟันธง ใน 5 ปี ทำพัทยาหายทั้งหาด ฟากฝั่งอันดามัน พื้นที่ชายหาด็จมไปในทะเล 13,000 ไร่ ชี้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายแน่

เมธินี จงสฤษดิ์หวัง ผู้อำนวยการ (Head of Research) SCB EIC (Economic Intelligence Center) เปิดเผยผลศึกษาและวิเคราะห์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Climate change) รวมทั้งผลกระทบของ Climate change ที่มีต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบผลการศึกษาที่เผยแพร่ทั่วไปในไทย โดยการศึกษาได้มุ่งเน้นไปที่ความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดจาก Climate change และการมุ่งสู่กระแสเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรับมือและเร่งปรับตัว

จากการศึกษาพบว่า Climate change ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยสถานการณ์ Climate change ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ภาคธุรกิจหลัก ได้แก่ ราคาพลังงานสูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ขณะที่ภาคธุรกิจต่างๆ ก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบในวงกว้างขึ้นด้วย

เมธินี กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 25 ของโลก ขณะที่กรุงเทพฯ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในปริมาณที่เกือบเท่ากับลอนดอน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าถึงเกือบ 10 เท่า ซึ่งจะทำให้ความต้องการและราคาพลังงานสูงขึ้น โดยคาดว่าความต้องการพลังงานโลกมีแนวโน้มเติบโตราว 1.2% ต่อปี ในอีก 20 กว่าปีข้างหน้า รวมทั้งทำให้ความต้องการพลังงานทดแทนมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วและเกิดการรุกพื้นที่เพื่อปลูกพืชพลังงานมากขึ้น

ผลผลิตเกษตรลดฮวบ

นอกจากนี้ ยังทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงและราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น สำหรับไทยพบว่า ภาวะแห้งแล้งผิดปรกติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศลดลงต่อเนื่องราว 3% ต่อปี และทำให้ผลผลิตพืชผลหลักลดลงราว 2% ต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวในไทย ที่เห็นชัดเจนคือ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและความเสียหายจากปะการังฟอกขาวที่รุนแรงที่สุด ซึ่งเป็นแหล่งรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงกว่า 5 ล้านคนต่อปี หรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทย หากปล่อยทิ้งไว้ พื้นที่แถบชายฝั่งอันดามันอาจหายไปสูงสุดถึง 13,000 ไร่ หรือเกือบ 15% ของเนื้อที่ทั้งหมดของ 4 จังหวัดที่ถูกกระทบ

ขณะที่ ปราณิดา ศยามานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโสของ SCB EIC กล่าวว่า นอกจากผลกระทบที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว Climate change ยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ ในวงกว้าง ทั้งในแง่ปัญหาการขาดแคลนปัจจัยการผลิตและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาน้ำมันและวัตถุดิบทางการเกษตรเป็นปัจจัยการผลิตสูง รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆ ที่มีปัจจัยการผลิตเชื่อมโยงกับภาคท่องเที่ยว และธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ขนส่งและคมนาคม ปิโตรเลียม เหล็ก และปูนซีเมนต์ ซึ่งอาจต้องถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นหรือซื้อคาร์บอนเครดิต หากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด หรือแม้แต่ต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันสำคัญให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว

สำหรับผลกระทบต่อความต้องการพลังงานและราคาพลังงาน ทำให้ความต้องการพลังงานของโลกเติบโตต่อเนื่อง โดย International Energy Agency (IEA) คาดว่าความต้องการพลังงานของโลกจะขยายตัว 1.2% ต่อปี ในอีก 20 กว่าปีข้างหน้า ซึ่งมีผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2010 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ไม่เพียงแต่ราคาพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ Climate change ยังทำให้มีการรุกพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหาร ความต้องการพลังงานและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้พลังงานทดแทนมีแนวโน้มเติบโตเร็วมากราว 2 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นที่มาของการรุกพื้นที่เพื่อปลูกพืชพลังงาน โดย IEA คาดการณ์สัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจากราว 7% เป็น 14% ในอีก 20 ปีข้างหน้า ส่งผลให้มีการเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงาน โดยเฉพาะ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และถั่วเหลือง เช่น ราคาปาล์มน้ำมันที่เติบโตราว 10% ต่อปี มีผลให้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 8% ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้นไม่เพียงแต่การขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงาน แต่พื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารบางส่วน เช่น นาข้าวในบางพื้นที่ถูกปรับเปลี่ยนมาใช้ในการปลูกพืชพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้โอกาสในการเกิดวิกฤตอาหารมีมากขึ้นด้วย

Climate change ยังส่งผลประทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและราคาสินค้าเกษตรด้วย ทั้งนี้ ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตพืชผลลดลงราว 2% ต่อปี นอกจากนี้อุทกภัยครั้งล่าสุดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ยังส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมของประเทศเสียหายรวมกันกว่า 10 ล้านไร่ หรือเกือบ 10% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศที่ประมาณ 130 ล้านไร่ ซึ่งถือเป็นความเสียหายจากอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี

จากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า ความต้องการพืชอาหารประเภทธัญพืชของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอีก 20 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าปริมาณผลผลิตที่ผลิตได้ถึงกว่า 16% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตทั่วโลกที่ลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมถึงการแย่งพื้นที่เพาะปลูก ระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะ “food price shock” และกดดันให้ราคาพืชอาหารประเภทธัญพืชมีแนวโน้มสูงขึ้นประมาณ 15-40% จากราคาเฉลี่ยในช่วงปรกติระหว่างปี 1997-2006

โดยคาดว่าราคาพืชพลังงานจะเพิ่มขึ้นประมาณ 40% จากปัจจุบัน จากความตื่นตัวในเรื่องการใช้พลังงานทดแทนจากพืชเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมัน เห็นได้จากแนวโน้มการผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลในเชิงพาณิชย์กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการพืชพลังงาน เช่น น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นมาก จากประเทศในกลุ่มอเมริกากลาง อเมริกาใต้ แอฟริกา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

แหล่งท่องเที่ยวถูกทำลายหนัก

ไม่เพียงแค่นั้น Climate change จะส่งผลกระทบต่อปริมาณแหล่งท่องเที่ยวในแถบชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยซึ่งรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงกว่า 5 ล้านคนต่อปี หรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่ยังมีผลต่อคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและระบบนิเวศทางทะเลด้วย ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงทั้งในแถบทะเลอันดามันและอ่าวไทย ถือเป็นภัยเงียบที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความลาดชันและพื้นที่หน้าหาด ซึ่งเป็นแหล่งรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงกว่า 30% ของทั้งหมด แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะ Climate change ยังกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล เห็นได้ชัดจากปัญหาปะการังฟอกขาวในพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลอันดามันที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น

เมธินี กล่าวต่อว่า หากไม่ได้รับการดูแล การกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงอาจทำให้พื้นที่แถบชายฝั่งอันดามันหายไปสูงสุดถึง 13,000 ไร่ ภายใน 5 ปี ซึ่งจะกระทบแหล่งท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงกว่า 3 ล้านคนต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ผลกระทบของ Climate change ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งมีผลให้พื้นที่ชายหาดแคบลงและอาจสูญหายไปในบางพื้นที่ รวมทั้งมีผลต่อความลาดชันหน้าหาด ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ระดับน้ำทะเลในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 4 มิลลิเมตรต่อปี

โดยจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญแถบชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีความเสี่ยงถูกกัดเซาะรุนแรงในอัตราเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี คือ พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง ซึ่งเป็นแหล่งรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงประมาณ 20% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทย หากไม่รีบดำเนินการแก้ไข และสถานการณ์การกัดเซาะรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายในระยะเวลา 5 ปี พื้นที่แถบชายฝั่งทะเลของจังหวัดเหล่านี้อาจหายไปสูงสุดถึง 13,000 ไร่ หรือประมาณ 15% ของพื้นที่ทั้งหมด

ฝั่งอ่าวไทยเข้าข่ายวิกฤต

เช่นเดียวกับฝั่งอ่าวไทยที่ถูกกัดเซาะถึงขั้นวิกฤตแล้ว โดยเฉพาะหาดพัทยาซึ่งรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2.5 ล้านคนต่อปี หากปล่อยทิ้งไว้ หาดพัทยาอาจหายไปในเวลาไม่ถึง 5 ปี จากการศึกษาของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเมืองพัทยา ระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อัตราการกัดเซาะชายฝั่งของหาดพัทยาอยู่ที่ประมาณเกือบ 2 เมตรต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงและสภาพการใช้ที่ดินริมหาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากไม่มีการเร่งดำเนินโครงการถมทรายเพื่อสร้างหาดเทียม (beach nourishment) หรือสร้างแนวกันคลื่น หาดพัทยาอาจหมดไปภายในเวลา 5 ปี

***********

เปิดคำทำนายภัยพิบัติในไทยปี 2554

พยากรณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติประเทศไทย ปีนี้จะรุนแรงกว่าทุกปี “โหรชื่อดังโสรัจจะ” ทำนายเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม จากแผ่นดินไหวที่ “เกาะสุมาตรา” ก่อตัวเป็น “คลื่นยักษ์สึนามิ” ถล่มชายฝั่งทะเลอันดามัน สร้างความเสียหายกว่าปี 47

คำทำนายเชิงโหราศาสตร์ การคาดการณ์ที่มีความเป็นไปได้จริง แต่ระยะเวลาอาจคลาดเคลื่อน “โหรโสรัจจะ นวลอยู่” นอสตราดามุสเมืองไทย มีการทำนายเหตุการณ์สึนามิเมื่อ 26 ธันวาคมปี 2547 ได้อย่างแม่นยำ และจากนั้นทุกๆ ปีที่ผ่านมา คำทำนาย “โหรโสรัจจะ” ได้ทำนายเหตุการณ์เกี่ยวกับภัยแผ่นดินไหว และสึนามิที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศไทยมาตลอดทุกๆ ปี

ล่าสุดปรากฏการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่นนั้น “โหรโสรัจจะ” กล่าวกับผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ว่า ความสัมพันธ์ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวและมีสึนามิที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศไทย

เหตุการณ์จะเป็นไปตามดังทำนายไว้ในหนังสือ “ศาสตร์แห่งโหร” อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เกรงว่าจะทำให้สังคมแตกตื่นกันไปมากขึ้น ซึ่งการพยากรณ์เป็นการเตือนภัย หรือเฝ้าระวังมากกว่า เพื่อไม่ให้ทุกคน ทุกฝ่ายประมาทในเรื่องที่ทำนายไว้

คำทำนายในอนาคต พยากรณ์ปี 2554 ไว้ในหนังสือศาสตร์แห่งโหร ฉบับพิเศษ “รู้ทันดวงกับโหรดัง 2554” ที่ว่า จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติสุดมหาหฤโหดไปทั่วโลก

สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นจากอิทธิพลของการโคจรของดวงดาวในปีเถาะ เป็นสิ่งวิปริตผิดอาเพศมากกว่าปีที่ผ่านมาอย่างใหญ่หลวง ดาวสีเลือดได้รับแสงจากดาวมฤตยูในช่วงเดือน มี.ค.2554 เป็นดาวปฏิวัติคะนองเลือดในมุมร่วมธาตุ ย่อมเกิดสภาพการเดือดพลุ่งพล่านไม่สงบ เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า แต่ยังน้อยกว่า มหันตภัยที่ใหญ่กว่ามากหลายร้อยเท่าตัว ก็คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สุดมหาหฤโหดไปทั่วโลก ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

นอกจากนี้ยังมีคำทำนายว่าในปีนี้จะเกิดภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว แผ่นดินทรุด แผ่นดินถล่ม และคลื่นยักษ์สึนามิบ่อยครั้ง และถี่มากขึ้นกว่าที่เคยปรากฏมาก่อน ในประวัติศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ของโลก ตั้งแต่ 1,000 ปีที่ผ่านมาก็ว่าได้

ส่วนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นประเทศไทย คือ มหันตภัยทางธรรมชาติ สร้างความเสียหายรุนแรงยิ่งกว่าทุกปี จากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างมาก อากาศจะกลับตาลปัตรที่เคยร้อนกลับหนาว และเมืองหนาวกลับกลายเป็นร้อน โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม จะเกิดแผ่นดินไหวที่ “เกาะสุมาตรา” จะทำให้เกิด “คลื่นยักษ์สึนามิสูงเสียดฟ้าถล่มชายฝั่งทะเลอันดามันครั้งใหญ่ ” กินอาณาเขตเป็นร้อยกิโล สร้างความเสียหายมากกว่าเมื่อครั้งปี 2547

ในช่วงปลายปีเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี ไข้หวัดนก หรือไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ จะพัฒนาสามารถแพร่พันธุ์จากสัตว์มาสู่คน ทำให้มีผู้เสียชีวิตมาก เกิดอากาศร้อนจัด และหนาวจัดในเดือนเดียวกัน จะเกิดเหตุน้ำท่วมไปทั่วโลกรวมทั้งเมืองไทย และกรุงเทพฯ บางส่วนจะจมหายไปกับน้ำ

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและมีคลื่นยักษ์สึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่น ในแง่ของโหราศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากโหรชื่อดัง “โสรัจจะ นวลอยู่” เคยทำนายไว้เกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยแผ่นดินและสึนามิมาหลายปีหลายครั้ง โดยคาดการณ์ว่าบางพื้นที่ในไทยจะเกิดแผ่นดินไหวหรือสึนามิใต้ทะเล ในช่วงที่ปลายปี 2551 เนื่องจากอิทธิพลมุมวิกฤตของดวงดาว ดาวพฤหัสจะเขยิบจะไปอยู่ราศีมังกร ทำฉากกับลัคนาของดวงเมืองไทย ส่วนราหูก็จะโคจรมารวมอยู่กับดาวพฤหัสด้วย ถือเป็นมุมเล็งกัน

ปีที่ผ่านมามีคำทำนายเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า จะเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในเดือนมกราคมปี 2553

เดือนมีนาคม เกิดภัยพิบัติทางทะเลครั้งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ มีคลื่นยักษ์เป็นกำแพงสูงเสียดฟ้า อันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวในหมู่เกาะสุมาตรา พัดเข้าถล่มหมู่เกาะและชายฝั่งด้านอันดามัน กวาดผู้คนและทรัพย์สินบ้านเรือนที่ติดทะเลลงสู่ทะเลไปเกือบหมดสิ้น ทำให้เกาะบางเกาะจมหายไปในทะเล เดือนเมษายนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกาะสุมาตรา และมีผลกระทบถึงไทยอย่างรุนแรง

เดือนมิถุนายน เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ คนล้มตายเป็นพัน

กลางเดือนกรกฎาคม กรุงเทพฯ ตึกรามบ้านช่องที่อยู่อาศัยอาจถล่มทลายจากแผ่นดินทรุดตัวหลายแห่ง

เดือนสิงหาคม เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงในประเทศไทย เกิดขึ้นทางภาคเหนือ มีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมหาศาล และจะมีอุบัติภัยทางทะเลและทางเครื่องบินมากกว่าในระยะใด มีการตายหมู่เป็นร้อย

ปลายเดือนธันวาคม เกิดคลื่นยักษ์สึนามิเข้าถล่มชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย กวาดผู้คนและทรัพย์สิน สิ่งก่อสร้างลงสู่ทะเลจนเกือบหมดสิ้น โดยที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิด

ต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ มีแผ่นดินไหว ระดับ 8.9 ริกเตอร์ ที่ประเทศญี่ปุ่น จนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มหลายพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น “โสรัจจะ” มองว่าเป็นไปตามคำทำนายที่มีการพยากรณ์ล่วงหน้า ถึงเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2554 ที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในประเทศตามแนวแปซิฟิก

************

ย้อนรอยสึนามิถล่มญี่ปุ่น
สาหัสที่สุดในรอบ 144 ปี

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมาหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ และสึนามิขนาด 10 เมตรถล่มบริเวณบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ที่บริเวณเมืองเซนได เกาะฮอนชู จ.มิยากิ ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้ และน้ำท่วมบริเวณหลายพื้นที่ในจังหวัดมิยากิ บ้านเรือน ทรัพย์สิน สินค้าและอาคารร้านค้าเสียหายหลายพันแห่ง ทั้งยังส่งผลให้ระบบไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิเกิดความขัดข้องอีกด้วย

อาคารคลุมเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และ 4
หลังแผ่นดินไหว แม้ว่าทาง Tokyo Electric Power Company (TEPCO) สั่งหยุดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ของทั้ง 2 โรงไฟฟ้าในฟูกูชิมะแล้วก็ตาม แต่โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ห่างกันประมาณ 11 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางของแผ่นดินไหวมากจนอาจจะเกิดความเสี่ยง แต่ก็มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554 เวลาประมาณ 15:36 น. ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น มีเสียงระเบิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาโรงที่ 1 (Fukushima Daiichi Plant) ที่บริเวณเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และในเวลา 15.47 น. ตามเวลาท้องถิ่น รายงานจากโฆษกรัฐบาลได้มีการออกมายอมรับว่ามีการระเบิด และมีสารรั่วไหลออกมา พร้อมให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่เป็นบริเวณ 10 กิโลเมตร

และเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 เกิดระเบิดขึ้นมาอีกครั้งที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย แต่มีรายงานจากโฆษกรัฐบาลว่าตัวแกนของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ยังปลอดภัยดี และในช่วงค่ำวันเดียวกันได้เกิดระเบิดขึ้นอีกครั้งในลักษณะคล้ายคลึงกับการระเบิดของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 หลังจากระบบปั๊มหล่อเย็นชั่วคราวล้มเหลว

ขณะที่ในวันที่ 15 มีนาคม 2554 ได้เกิดเพลิงไหม้ที่เตาปฏิกรณ์ หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะมาโรงที่ 1 ซึ่งในการระเบิดครั้งนี้มีส่วนแตกต่างจากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และหมายเลข 3 เนื่องจากเกิดจากปัญหาระดับน้ำหล่อเย็นในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว และในวันเดียวกันมีการระเบิดเกิดขึ้นอีกครั้งที่เตาปฏิกรณ์ หมายเลข 2 อย่างไรก็ดีในเวลา 07.00 น. ได้มีการวัดรังสีที่ประตูทางเข้าหลักได้ 11.9 mSv/h จากนั้นในจุดเดียวกัน ณ เวลา 13.00 น. ระดับรังสีลดลงเหลือ 0.6 mSv/h

ทั้งนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆ โรงไฟฟ้าประมาณ 170,000 คน ต้องอพยพออกจากรัศมี 20 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิชิ (Fukushima Daiichi) และประชาชนอีกประมาณ 30,000 คน ต้องอพยพออกจากรัศมี 10 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดนิ (Fukushima Daini) ด้านนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ได้ให้ประชาชนราว 140,000 คน ที่อยู่อาศัยในบริเวณ 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าอยู่แต่ภายในที่พักอาศัย ขณะที่กรุงโตเกียวเอง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 250 กิโลเมตรอยู่แต่ในอาคาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น