วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

มหาวิบัติภัย กัมมันตรังสี ฟูกุชิมะช็อกโลก

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นอกจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ จะทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับหายนะภัยครั้งใหญ่ ทั้งจากแผ่นดินไหวโดยตรงและคลื่นยักษ์สึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก รวมถึงทรัพย์สินที่มิอาจประเมินค่าจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ภัยพิบัติที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับญี่ปุ่นและโลกไม่แพ้กันจนเกิด “วิกฤติซ้อนวิกฤต” เมื่ออาคารควบคุมเตาปฏิกรณ์ของ “โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์” ที่จังหวัดฟูกุชิมะ เกิดระเบิดขึ้นถึง 4 แห่งด้วยกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากจะส่งผลทำให้เกิด “สารกัมมันตรังสี” รั่วไหลออกมาจากอาคารควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ จนกระทั่งรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ของประเทศ พร้อมมีคำสั่งให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่มากกว่า 200,000 คน

และไม่เพียงแต่ญี่ปุ่นเท่านั้น การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีครั้งนี้ยังสร้างความตื่นตระหนกให้กับโลกทั้งโลก สร้างความสั่นสะเทือนต่ออนาคตของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ดังเช่นที่เยอรมนีที่รัฐบาลมีคำสั่งปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้า 7 แห่งจากทั้งหมด 17 แห่งเป็นการชั่วคราว 3 เดือน เพื่อทบทวนมาตรการต่ออายุการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2523 หรือการที่รัฐบาลรัสเซียมีคำสั่งให้ทบทวนแผนการในอนาคตทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์

เช่นเดียวกับรัฐบาลหลายประเทศซึ่งรวมถึงอังกฤษ, อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ที่ออกประกาศเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าญี่ปุ่น หรืออีกหลายประเทศที่มีคำสั่งให้คุมเข้มอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นเนื่องจากเกรงการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี

ที่ร้ายกว่านั้นคือเกิดกระแสข่าวลือในโซเชียลเน็ตเวิร์คเกี่ยวกับการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี จนเกิดความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับการกินไอโอดีนเม็ดและการใช้เบตาดีนทาคอเพื่อป้องกันสารกัมมันตรังสี

แน่นอน จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีคำถามและปริศนาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะมีอยู่มากมาย

ไม่ว่าจะเป็นทำไมประเทศญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าและมีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านแผ่นดินไหว สึนามิและนิวเคลียร์ถึงไม่สามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะทำท่าว่า ต้นเหตุการณ์รั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจะเป็นผลมาจากความผิดพลาดของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นความสนใจใคร่รู้ถึงภยันตรายของสารกัมมันตรังสีว่า มีความรุนแรงมากน้อยอย่างไร และจะนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บที่น่าสะพรึงกลัวเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบหรือไม่

ฟูกุชิมะบึ้มรุนแรงอันดับ 2
หนักกว่าฮิโรชิมา นางาซากิ

การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะที่มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 6 เตา เริ่มต้นขึ้นจากอาคารควบคุมเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ตามต่อด้วยอาคารควบคุมเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 เมื่อวันที่ 14 มี.ค. อาคารควบคุมเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 และอาคารควบคุมเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ตามลำดับ ขณะที่อาคารควบคุมเตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และหมายเลข 6 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งเดียวกันก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีสิทธิ์เกิดเหตุซ้ำรอยอาคารควบคุมเตาปฏิกรณ์ 4 เตาก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ การระเบิดดังกล่าว เป็นผลมาจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ที่ทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หยุดทำงานอย่างรวดเร็ว และพร้อมๆ กันนั้นก็ได้ตัดกำลังไฟฟ้าที่ใช้ควบคุมและปั๊มน้ำ อีกทั้งยังทำให้แหล่งกำเนิดไฟฟ้าสำรองไม่ทำงาน โดยผลที่เกิดขึ้นก็คือแท่งเชื้อเพลิงในแกนเตาปฏิกรณ์มีความร้อนเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากขาดน้ำเพื่อใช้หล่อเย็น จนถึงขั้นต้องใช้น้ำทะเลในการระบายความร้อน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนเกิดการสั่งสมของก๊าซไฮโดรเจนที่เพิ่มมากขึ้นจนทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจนจนเกิดการระเบิดในที่สุด

และผลของการระเบิดดังกล่าวก็ส่งผลทำให้มีสารกัมมันตรังสีรั่วออกมาจากบริเวณโรงไฟฟ้าและอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยนายคันไซ นากาโน่ ประธานคณะกรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะ แถลงว่า นับตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วย 96 คน ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล ในรัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงงานนิวเคลียร์

นายยูกิโอะ เอดาโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ว่า หลังการวัดระดับกัมมันตภาพรังสีในพื้นที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะพบเพิ่มสูงขึ้นถึง 1,000 มิลลิซีเวิร์ตส์ ก่อนที่จะลดระดับลงมาอยู่ที่ 800-600 มิลลิซีเวิร์ตส์

ขณะที่ในจังหวัดคานางาวะบริเวณชานกรุงโตเกียว สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า พบปริมาณกัมมันตภาพรังสีสูงกว่ามาตรฐานถึง 8 เท่า

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการป้องกันอันตรายจากรังสีระหว่างประเทศ(ICRP) กำหนดให้ประชาชนทั่วไปรับรังสีได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในปริมาณไม่เกิน 5 มิลลิซีเวิร์ตส์ต่อปี ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีรับได้ไม่เกิน 50มิลลิซีเวิร์ตส์

หรือหมายความว่า เป็นระดับการแพร่รังสีที่มีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์หลายเท่าตัวทีเดียว
วิกฤตนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นทำให้ “นายนาโอโตะคัง” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นถึงกับต้องอ่านแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์โดยยอมรับว่า “ปริมาณรังสีถือว่าอยู่ในระดับสูงและเสี่ยงต่อการรั่วไหลเพิ่มขึ้นอีก ขอให้ประชาชนในระยะห่างจากโรงไฟฟ้า 30 กิโลเมตรอยู่แต่ในอาคารบ้านเรือน ถือเป็นเหตุวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดยิ่งกว่าเหตุทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2”

ตามต่อด้วยการที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเขตห้ามบินในรัศมีประมาณ 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะ เพราะเกรงว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสี

เช่นเดียวกับ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่น ที่มีพระราชดำรัสแสดงความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะซึ่งยังไม่อาจคาดเดาได้ โดยทรงระบุว่า “ข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งว่า เราจะสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก” ขณะเดียวกันพระองค์ก็ได้วอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยคุ้มครองประชาชนชาวญี่ปุ่นให้ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เช่นเดียวกับ นายอังเดร โคลด ลาคอสต์ หัวหน้าสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ที่ระบุว่า วิกฤตการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะของญี่ปุ่นร้ายแรงกว่าอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่หมู่เกาะทรีไมล์ในรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ ในปี 2552 ซึ่งถูกจัดให้เป็นอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงอันดับ 2 ของโลกรองจากอุบัติเหตุที่เมืองเชอร์โนบิลในยูเครนปี 2529

อันตรายของสารกัมมันตรังสีที่ยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของคนญี่ปุ่นจากกรณีสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ทำให้การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีครั้งนี้สร้างความหวาดกลัวให้กับคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย เมืองหลายเมืองไม่สนคำเตือนของรัฐบาล เช่นที่เมืองโซมะที่อยู่ห่างจากฟูกุชิมะไปทางตอนเหนือประมาณ 50 กิโลเมตร ชาวบ้านต่างพากันอพยพออกจากตัวเมืองอย่างรีบเร่งจนเมืองมีสภาพไม่ต่างกับเมืองร้าง

ประชาชนในจังหวัดอิบารากิและบางพื้นที่ในโตเกียว ประชาชนต่างแห่ไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมากักตุนไว้ ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่สำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ไฟฉาย แบตเตอรี่ ถุงนอน รวมถึงแกลลอนใส่เชื้อเพลิง เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีรั่วไหล

ขณะที่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นก็แทบกลายเป็นเมืองร้าง เนื่องเพราะประชาชนพากันหลบอยู่แต่ภายในอาคารบ้านเรือน

นอกจากนี้กระแสข่าวลือเรื่องสารกัมมันตรังสีรั่วไหลยังได้ถูกปล่อยผ่านทางสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์คจนทำให้เกิดความหวั่นวิตกไปทั่ว เช่นที่ฟิลิปปินส์ที่ประชาชนแห่กักตุนอาหาร และแห่ซื้อไอโอดีนชนิดเม็ด จนทางการฟิลิปปินส์ต้องออกประกาศยืนยันถึงความปลอดภัยของกัมมันตภาพรังสีดังกล่าว รวมทั้งองค์การอนามัยโลก(WHO) ต้องออกโรงเตือนถึงข่าวลือเรื่องสารกัมมันตรังสีแพร่กระจายไปทั่วเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ ว่า ไม่เป็นความจริง

กระนั้นก็ดีดูเหมือนว่า คำยืนยันของ WHO จะไม่เป็นผลเท่าใดนัก เพราะเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา สภาพลังงานปรมาณูของไต้หวันออกมาเปิดเผยว่า หลังจากติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสารกัมมันตรังสีที่ท่าอากาศยานหลัก 3 แห่งได้ 1 วัน ผลการตรวจมากกว่า 4,400 คน ที่เดินทางมาจากญี่ปุ่นพบว่า 25 คน มีอนุภาคกัมมันตรังสีปนเปื้อนตามเสื้อผ้าและรองเท้า จึงให้เปลี่ยน หรือใช้น้ำสะอาดล้าง ก่อนอนุญาตให้ออกจากท่าอากาศยาน เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ที่ตรวจพบสารกัมมันตรังสีในระดับสูงผิดปกติกับผู้โดยสาร 3 คน ที่โดยสารเครื่องบินมาจากญี่ปุ่น โดยผู้โดยสารคนหนึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นวัยกว่า 50 ปี เชื่อว่าอาศัยอยู่ที่จังหวัดฟูกุชิมะ สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดปัญหา ตรวจพบสารกัมมันตรังสีเกิน 1 ไมโครซีเวิร์ตส์ บนหมวกและเสื้อคลุมของเขา ถือว่าสูงกว่าระดับปกติหลายเท่า แต่ไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เจ้าหน้าที่จึงอนุญาตให้ออกจากท่าอากาศยานได้

ลุ้นระทึกคุมอยู่หรือไม่อยู่

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าทางรัฐบาลญี่ปุ่น รวมทั้งบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค (เทปโก) จะออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ของสารกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่า สังคมยังคงข้องใจกับกับ “ความเป็นจริง” ที่เกิดขึ้นว่า มีอะไรปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้หรือไม่

เพราะขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นและเทปโกยืนยันว่า สารกัมมันตรังสีจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน แต่ภาพเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นก็ทำให้สังคมโลกอดปริวิตกไม่ได้ว่า สถานการณ์ที่ฟูกุชิมะเลวร้ายกว่าที่คิดถึงขั้นที่แกนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางส่วนหลอมละลายไปแล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากหลังจากระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าไม่ทำงาน สิ่งที่สังคมโลกได้เห็นก็คือ การฉีดน้ำทะเลเข้าไปในระบบหล่อเย็น รวมกระทั่งถึงการใช้เฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปโปรยน้ำลงไปยังอาคารควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพราะถ้าไม่สาหัสหรือวิกฤตจริงๆ วิธีการเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น

แน่นอน ผู้ที่ตั้งคำถามและเป็นประเด็นที่ต้องจับตามากที่สุดก็คือ “นายยูคิกะ อามาโนะ” ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือไอเออีเอ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น ที่ออกมาระบุอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ต้องการให้รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะต่อไอเออีเอให้มากกว่านี้”

ตามต่อด้วยนายกุนเธอร์ โอตทิงเจอร์ ประธานกรรมาธิการพลังงานของสหภาพยุโรป(อียู) ถึงกับแถลงต่อกรรมาธิการรัฐสภายุโรปเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ว่า สถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นอยู่นอกเหนือการควบคุมแล้ว และในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดหายนภัยที่เลวร้ายลงไปอีก

กระทั่งทางเทปโกเองต้องออกมาแถลงยอมรับว่า เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือประมาณ 70% ขณะที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เสียหายประมาณ 33% และคาดว่า แกนเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของเตาทั้งสองอาจหลอมละลายไปแล้วบางส่วน ซึ่งหมายความว่าเทปโกยอมรับกลายๆ ถึงอันตรายที่จะทวีความรุนแรงขึ้น

ขณะที่ข้อมูลจากหลายสายก็เริ่มขยายความให้กว้างขวางขึ้นว่า ทางการญี่ปุ่นเคยได้รับคำเตือนจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ "ไอเออีเอ" มานานกว่า 2 ปีแล้วถึงความไม่ปลอดภัยของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งปรับปรุงมาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของตนแต่ทางการญี่ปุ่นกลับเพิกเฉย

ทั้งนี้ เนื่องจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นถูกออกแบบมาให้รับความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ที่ระดับ 7.0 เท่านั้น

ด้าน รศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโครงสร้าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียหรือเอไอที ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของไทย ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมแปลกใจว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นมันน่าจะทนแผ่นดินไหวได้ดีกว่านี้ แต่อันนนี้ยังไม่รู้รายละเอียดเพราะเราไม่รู้ข้อมูลข้างใน เท่าที่ฟังดูเหมือนกับว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี่สร้างมานานแล้ว 40 ปีแล้ว ตั้งแต่ยุคที่การออกแบบอาจจะไม่ได้รัดกุมมากเท่านี้ ตอนนั้นความรู้ด้านแผ่นดินไหวก็ยังมีน้อยอยู่ จริงๆแล้วประเทศญี่ปุ่นจะมีการเตรียมตัวเรื่องแผ่นดินไหวดีนะ แล้วรู้สึกว่าคราวนี้สึนามิจะมีผลกระทบทำให้ระบบไฟฟ้าเสียหายด้วย แต่ที่จริงแล้วมันควรจะตัดและหยุด shut down ก่อนตั้งแต่รู้ว่าเกิดแผ่นดินไหว ไม่รอจนถึงตอนสึนามิเข้า อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามข่าว เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างผิดสังเกตอยู่เหมือนกัน ประชาชนญี่ปุ่นก็ชักจะไม่ไว้ใจรัฐบาลว่าปิดข่าวหรือเปล่า บอกว่ารั่วไหลไม่มาก แต่ทำไมให้อพยพ ตอนหลังถึงมายอมรับกัน อันนี้มันทำให้การตัดสินใจของคนผิดไป การที่ทำให้สถานการณ์ดูดีกว่าเหตุ ทั้งที่มันแย่แล้ว”

ที่สำคัญคือ การรั่วไหลดังกล่าวยังสร้างความสั่นสะเทือนต่ออนาคตของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ดังเช่นที่เยอรมนีที่รัฐบาลมีคำสั่งปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้า 7 แห่งจากทั้งหมด 17 แห่งเป็นการชั่วคราว 3 เดือน เพื่อทบทวนมาตรการต่ออายุการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2523 หรือการที่รัฐบาลรัสเซียมีคำสั่งให้ทบทวนแผนการในอนาคตทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์

ขณะเดียวกันก็ส่งผลทำให้การสร้างและพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของญี่ปุ่นและโลก เพราะแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ทำให้จำเป็นต้องมีการปรับสภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อให้รองรับสถานการณ์ได้ ซึ่งนั่นหมายความว่าจะทำให้ต้นทุนในการก่อสร้างหรือการปรับปรุงแพงขึ้นไปด้วย โดยหากต้องการสร้างให้สามารถทนแรงแผ่นดินไหวอีก 1 ริกเตอร์ก็ต้องเพิ่มค่าผลิตไปอีก 30 เท่า

…ถึงตรงนี้ คงไม่มีใครทราบได้ว่า วิกฤติกัมมันตรังสีรั่วไหลที่ญี่ปุ่นจะยุติลงเมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ คือ หายนะภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งนี้น่าจะทำให้โลกตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น



*************************************

ไอโอดีน สารซีเซี่ยม สตรอนเดียม
สารกัมมันตรังสีสุดอันตราย

หลังการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ประเทศต่างๆ ได้เฝ้าจับตาสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เนื่องเพราะเกรงว่า สารกัมมันตรังสีที่ปลดปล่อยออกมาจะถูกพัดพาไปยังประเทศของตัวเอง ดังนั้น หลายประเทศจึงมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการออกคำเตือนสำหรับประชาชนของตนเองที่ต้องการเดินทางไปญี่ปุ่น รวมทั้งการตรวจสอบอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น แม้บรรดาผู้เชี่ยวชาญจะยืนยันว่า ไม่มีการแพร่รังสีจากญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่นๆ ก็ตาม

ทั้งนี้ เนื่องเพราะทุกคนรับรู้ดีว่า การได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกายนั้น มีอันตรายมากน้อยแค่ไหน

นายโจเซฟ มานยาโน่ ผู้อำนวยการบริหารของโครงการสุขอนามัยสาธารณะจากการแผ่รังสี(อาร์พีเอชพี) สหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า การแตกตัวของยูเรเนียมในเตาปฏิกรณ์ นอกจากจะให้ความร้อนที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังก่อให้เกิดสารเคมีใหม่ๆ มากกว่า 100 ชนิดขึ้นในกระบวนการดังกล่าว เมื่อสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายก็จะทะลุทะลวงเซลล์ที่มีสุขภาพดี ทำลายหรือทำให้เซลล์เหล่านั้นสูญเสียความสามารถบางอย่างไป

สารกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นและเป็นภัยต่อสุขภาพสูงสุดประกอบด้วยสารไอโอดีน สารซีเซี่ยมและสตรอนเดียม 90 เพราะสารเหล่านี้เป็นสารเคมีพื้นฐานที่มีอยู่ในร่างกายหรือร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ เนื่องจากเป็นสารเคมีในกลุ่มเดียวกับไอโอดีนและโพแทสเซียม ซึ่งเซลล์สามารถดูดซับได้ทันที ทำให้มีอันตรายสูงกว่าสารเคมีที่มีกัมมันตภาพรังสีตัวอื่นๆ

ทั้งนี้ โรคที่น่าวิตกที่สุดคือโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ เพราะต่อมไทรอยด์ไม่สามารถแยกไอโอดีนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีกับไอโอดีนปกติได้ ดังนั้นการแก้ด้วยการกินไอโอดีนเม็ดเพื่อทำให้ร่างกายมีไอโอดีนเพยงพอ ไม่ต้องดูดซับเข้าไปอีกจึงเป็นหนทางแก้ที่ดี

ด้าน นพ. อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ อาจารย์สาขาวิชาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอและเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า สารกัมมันตรังสีทำให้เราตายได้ ต่อเมื่อได้รับสารกัมมันตรังสี ปริมาณมากๆ อยู่ใกล้กับแหล่งระเบิดมากๆ จะทำให้เซลล์ของร่างกายหยุดเจริญเติบโต มีแผลตามร่างกาย เม็ดเลือดต่ำทั้งเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ร่างกายอ่อนเพลีย และเกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต ถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาไม่กี่วัน แต่หากปริมาณรังสีที่ได้รับเป็นจำนวนน้อย อยู่ห่างจากแหล่งที่เกิดระเบิด ปริมาณรังสีนั้นอาจไม่มากพอที่จะทำอันตรายโดยตรงกับร่างกายของเรา แต่อาจทำให้เซลล์บางส่วนผิดปกติ และเกิดเป็นมะเร็งขึ้นภายหลัง ซึ่งหนึ่งในเซลล์ของร่างกาย ที่ไวต่อสารกัมมันตรังสีมากที่สุด คือ ไทรอยด์ ดังนั้น หากต่อมไทรอยด์ของร่างกายได้รับสารรังสีเกินขนาด อาจทำให้เกิดมะเร็งขึ้นในอนาคตได้ อาจจะ 10-20 ปีต่อมา ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ
นอกจากนี้สารกัมมันตรังสี ที่ตกค้างหลังการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาจลอยอยู่ในอากาศ และตกลงมาพร้อมกับฝนได้ ดังนั้นการถูกฝนในบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งระเบิดจึงอาจได้รับปริมาณรังสีจากการระเบิดได้ แต่จะเกิดเฉพาะรอบๆ แหล่งระเบิดเท่านั้น แต่ฝนดังกล่าวจะไม่สามารถมาจากญี่ปุ่นถึงไทย

นพ. อดุลย์ กล่าวด้วยว่า น้ำดื่ม ปลา อาหาร ที่อยู่ในบริเวณที่มีการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาจมีสารกัมมันตรังสีในปริมาณสูง และไอโอดีนเป็นสารที่จับสารกัมมันตรังสีได้เร็วที่สุด ดังนั้นหากรับประทานอาหารจากแหล่งดังกล่าว ต่อมไทรอยด์จะรับสารไอโอดีนที่มีกัมมันตรังสีเข้าไปด้วย จึงเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง แต่ หากต่อมไทรอยด์ได้รับไอโอดีนจนอิ่มแล้ว จะไม่รับไอโอดีนเพิ่มเข้าไปอีก ดังนั้นหากกินไอโอดีนเม็ดเข้าไปในปริมาณพอเหมาะ จะทำให้ต่อมไทรอยด์อิ่มและดูดจับไอโอดีนที่มีสารกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนกับ อาหารและน้ำได้น้อยลง เราจึงเสี่ยงลดลง การกินไอโอดีนเม็ดจึงจำเป็นสำหรับคนที่อยู่ในบริเวณใกล้กับที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่การกินไอโอดีนเม็ด จะไม่แนะนำในคนปกติ
เพราะหากร่างกายรับไอโอดีนเข้าไปในปริมาณมากเกิน ต่อมไทรอยด์จะหยุดทำงานชั่วคราว เกิดอาการอ่อนเพลีย แต่หลังจากนั้นประมาณ 3-5 วัน ต่อมไทรอยด์จะทำให้ไอโอดีนที่กินเข้าไปสร้างเป็นฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งหากกินไอโอดีนเม็ดเข้าไปมากจะทำให้เกิดภาวะที่ฮอร์โมนไทรอยด์เกิน (hyperthyroid) หรือ ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ร่างกายจะอ่อนเพลีย เหนื่อย ผอมลง ดังนั้นคนทั่วไปจึงห้ามกินไอโอดีนเม็ด

อย่างไรก็ตาม ความหวาดกลัวที่อยู่ในจิตใจก็มิอาจขจัดให้หมดไปแล้ว จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์เรื่องการแห่ซื้อไอโอดีนเม็ด โดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า วิกฤติการณ์แพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีในญี่ปุ่น ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเม็ดโปแตสเซียมไอโอไดท์ ซึ่งมีการประมูลทางอินเตอร์เน็ตในราคาห่อละ 500 ดอลลาร์ (ประมาณ 15,285 บาท)

ขณะที่เภสัชกรรายหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า "ผู้คนต่างพากันอ่านข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ในญี่ปุ่น แล้วก็พากันซื้อยาเม็ดไอโอไดท์กันขนานใหญ่ แต่ร้านขายยาส่วนใหญ่ไม่ได้สั่งยาชนิดนี้เอาไว้ก่อน"

สำหรับประเทศไทยนั้น ทั้งนี้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) อธิบายว่า ไอเออีเอได้รายงานถึงสถานการณ์การฟุ้งกระจายของสารกัมมันตภาพรังสีว่าเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นโอกาสที่ผงฝุ่นกัมมันตภาพรังสีจะมายังประเทศไทยจึงอยู่ในระดับน้อยมาก และไทยมีสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสี 8 สถานี คือที่เชียงใหม่ พะเยา อุบลราชธานี ขอนแก่น ตราด ระยอง สงขลา และกรุงเทพฯ โดยจะทำหน้าที่ติดตาม ตรวจวัด และเฝ้าระวังรังสีในสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากกิจกรรมทางด้านนิวเคลียร์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

"ล่าสุดผลการตรวจวัดระดับรังสีแกมมาในอากาศ อยู่ในระดับปกติเท่ากับที่เคยวัดได้ก่อนการเกิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเมืองไทยรังสีแกมม่าวิ่งอยู่ระหว่าง 40-60 นาโนซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ซึ่งถ้าเกิดในปริมาณที่มากกว่า 200 นาโนซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ทางสำนักงานปรมาณูต้องลงไปตรวจสอบ ซึ่งทางไทยก็มีทีมงานที่ซ้อมแผนรับมือไว้อยู่ตลอดเวลา และพร้อมที่จะรายงานให้คนไทยได้ทราบหากคาดว่าจะเกิดอันตรายขึ้นต่อประชาชน"

นอกจากนี้ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังได้อธิบายถึงอันตรายของกัมมันตรังสีที่หากมนุษย์รับเข้าไปจะมีผลอย่างไรว่า สำหรับร่างกายมนุษย์สามารถรับสารปนเปื้อน หรือจากสารกัมมันตรังสี 1-3 มิลลิซีเวิร์ตส์ต่อปี แต่สำหรับคนที่ทำงานในโรงปฏิกรณ์จะให้ได้ 20 มิลลิซีเวิร์ตส์ต่อปี

ส่วนเรื่องการกินไอโอดีนเม็ดนั้น เลขาฯ ชัยวัฒน์อธิบายว่า เนื่องจากว่า ไอโอดีน-131 ที่กระจายออกมาก็เป็นกัมมันตรังสีเช่นกัน ทางญี่ปุ่นจึงจ่ายโอโอดีนเม็ดให้กับกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายหรือเข้าสู่ร่างกายได้น้อยที่สุด เนื่องจากรับเข้าร่างกายจากการกินเข้าไปก่อนแล้ว อย่างไรก็ตามการบริโภคต้องอยู่ในการควบคุมที่ถูกต้องเช่นกัน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นก็คงจะประกาศให้ประชาชนรับทราบ ส่วนอันตรายของการสะสมของกัมมันตรังสี ไอโอดีน-131 หากเข้าไปสะสมมากจะสะสมจนเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์

แต่สิ่งที่สังคมต้องไม่ลืมก็คือ สารกัมมันตรังสีที่รั่วออกมาไม่ได้มีแค่ไอโอดีน 131 ซึ่งมีครึ่งชีวิตเพียงแค่ 8 วัน หากยังมีสารซีเซียม-137 ที่มีอายุขัยครึ่งชีวิตถึง 30 ปี ซึ่งจะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว

**************************************

โศกนาฏกรรมนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ทั่วโลก

- 28 มีนาคม 1979 : สหรัฐฯ สั่งอพยพประชาชนราว 140,000 คน ออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย หลังเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ รัฐเพนซิลเวเนีย สาเหตุอุบัติภัยครั้งนั้นเกิดจากแกนเตาปฏิกรณ์ถูกหลอมละลาย ทำให้เกิดการปนเปื้อนรังสี แต่โชคดีที่สารกัมมันตภาพรังสีฟุ้งกระจายเฉพาะพื้นที่ภายในโรงงานเท่านั้น ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ความร้ายแรงของเหตุการ์ดังกล่าวอยู่ในระดับ 5 จาก 7 อันดับความร้ายแรงทางนิวเคลียร์ ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ

- สิงหาคม 1979 : เกิดการรั่วไหลของยูเรเนียมในโรงงานนิวเคลียร์ลับ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเออร์วิน รัฐเทนเนสซี สหรัฐฯ มีพลเรือนปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีไปกว่า 1,000 คน

- มกราคม-มีนาคม 1981 : โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สึรุกะของญี่ปุ่นเกิดเหตุรั่วไหลของรังสี 4 ครั้งติดต่อกัน ข้อมูลจากรัฐบาลกรุงโตเกียวในขณะนั้นระบุ ว่า มีผู้ปนเปื้อนสารพิษ 278 คน

- 26 สิงหาคม 1986 : อุบัติภัยนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดของโลกอุบัติขึ้น เมื่อเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด หลังการทดลองผิดพลาด มีผู้ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีขั้นร้ายแรงราว 200 คน ในจำนวนนี้มี 32 คนเสียชีวิตภายใน 3 เดือน เรื่องราวถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา หลังมีกลุ่มเมฆกัมมันตรังสีขนาดใหญ่ลอยอยู่เหนือน่านฟ้าแถบยุโรปเหนือ

หลังเกิดเหตุ มีการบันทึกได้ว่า เกิดฝุ่นรังสีนิวเคลียร์ (fall-out) ปริมาณมากกว่า การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ถล่มฮิโรชิมาเมื่อปี 1945 ผู้คนนับแสนต้องอพยพหนีตาย จากพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศระบุว่า เป็นอุบัติภัยนิวเคลียร์ครั้งนี้อยู่ในระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

- เมษายน 1993 : โรงงานแปรสภาพเชื้อเพลิงลับใน เขตตอมสค์-7 ทางตะวันตกของไซบีเรียได้ปล่อยกลุ่มก๊าซกัมมันตภาพรังสี ซึ่งประกอบไปด้วยยูเรเนียม-235 พลูโตเนียม-237 และวัสดุฟิสไซล์ หรือวัสดุธาตุนิวเคลียร์ออกมา ทว่า ไม่มีการเปิดเผยถึงจำนวนผู้บาดเจ็บ ล้มตาย

- พฤศจิกายน 1995 : มีการรายงานเหตุปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีขั้นร้ายแรงในเมืองเชอร์โนบิลอีกครั้ง ระหว่างการเคลื่อนย้ายเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์ตัวหนึ่ง แม้มีความพยายามปกปิดเรื่องดังกล่าว แต่ในที่สุดก็ข่าวก็แดงออกมา

- 11 มีนาคม 1997 : การทดลองในโรงงานนิวเคลียร์ เมืองโทไกมูระ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว ต้องหยุดชะงัดชั่วคราว เมื่อเกิดเหตุระเบิด และเพลิงไหม้ ซึ่งมีผู้เคราะห์ร้ายปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี 37 คน

- 30 กันยายน 1999 : มีผู้เสียชีวิต 2 คนจากอุบัติเหตุในโรงงานผลิตยูเรเนียม เมืองโทไกมูระ ญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าร้ายแรงที่สุดตั้งแต่อุบัติภัยเชอร์โนบิล สาเหตุครั้งนี้เกิดจากเจ้าหน้าที่เติมยูเรเนียมลงในถังตกตะกอนมากเกินไป จากความมักง่าย เพื่อต้องการประหยัดเวลา

ทั้งนี้ มีการเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า มีผู้ปนเปื้อนสารพิษมากกว่า 600 คน รัฐบาลสั่งให้ประชาชนอีกกว่า 320,000 คนห้ามออกจากบ้านมากกว่า 1 วัน เจ้าหน้าที่ 2 คน ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาเสียชีวิตอย่างน่าอเนจอนาถที่โรงพยาบาลในอีก 3 เดือน และ 6 เดือนให้หลัง

- 9 สิงหาคม 2004 : คนงาน 4 คนเสียชีวิต และอีก 7 คนถูกเพลิงไหม้ได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการรั่วไหลไอน้ำที่ไร้สารกัมมันตภาพรังสี ในโรงงานนิวเคลียร์มิฮามะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว 350 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หนึ่งในสามตัวของโรงงานหยุดทำงานโดยอัตโนมัติ เมื่อสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น ก่อนที่ความร้อนสูงจะรั่วไหลจนอาจทำให้แกนกลางหลอมละลาย อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นภัยนิวเคลียร์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของญี่ปุ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น