วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รวม หายนะภัย ปี 2010 จาก เวบผู้จัดการ

ปี 2010 นี้นับว่าเป็นปีแห่งหายนะ ภัยพิบัติ และโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกทีเดียว ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากธรรมชาติ หรือน้ำมือมนุษย์ แต่ต่างก็ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินอย่างร้ายแรงมากเป็นประวัติการณ์อีกปีหนึ่ง ลองมาทบทวนกันว่าเหตุการณ์เหล่านั้นมีอะไรบ้าง

1.แผ่นดินไหวเฮติ

เริ่มกันตั้งแต่ต้นปี ในวันที่ 12 มกราคม (ตามเวลาท้องถิ่น) เกิดแผ่นดินไหววัดความรุนแรงถึงระดับ 7.0 ถล่มกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 250,000 ราย ขณะที่อีกกว่า 1.2 ล้านชีวิต ต้องไร้ที่อยู่อาศัย และยังต้องประสบกับวิกฤตด้านสาธารณสุขซ้ำเติม เมื่อโรคอหิวาต์ระบาดหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกกว่า 1,100 คน โดยยังมีจำนวนผู้ติดเชื้ออีกนับหมื่นคน

ยิ่งไปกว่านั้น ทางธนาคารโลก และสหประชาชาติ ได้ประเมินการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวในเฮติไว้ว่า จำเป็นต้องใช้เงิน 11,500 ล้านดอลลาร์ และกินเวลาถึง 3 ปี แต่ก็เป็นเรื่องดีที่ผู้คนทั่วโลกต่างร่วมใจกันส่งความช่วยเหลือไปให้ผู้ประสบภัย โดยเฉพาะเหล่าคนดังที่ตบเท้าลงพื้นที่ และบริจาคเงินเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น แองเจลินา โจลี จอห์น ทราโวตา และฌอน เพนน์ เป็นต้น

2.แผ่นดินไหวชิลี

ผ่านไปเพียงเดือนเดียว ก็เกิดแผ่นดินไหวซ้ำในภูมิภาคละตินอเมริกา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกอนเซปซิยงของชิลี ระดับความรุนแรงถึง 8.8 ในเช้าตรู่ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ แรงสั่นสะเทือนสร้างความเสียหายในกรุงซันติอาโก เมืองหลวงซึ่งอยู่ห่างออกไป 317 กิโลเมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 711 ราย

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่ชิลี ในทุกประเทศทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ก็ได้ยกเลิกในเวลาต่อมาเมื่อพบข้อมูลว่าคลื่นยักษ์นั้นไม่ได้มีความรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายร้ายแรง

3.ภูเขาไฟไอซ์แลนด์ปะทุ

ภูเขาไฟใต้เขตธารน้ำแข็งอียาฟยาโยคูล ทางตอนใต้ของไอซ์แลนด์เกิดการปะทุในช่วงเช้าของวันที่ 21 มีนาคม และพ่นเถ้าถ่านออกมาหลายระลอกจนกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคม โดยควันพิษจากภูเขาไฟนั้นแผ่ลามไปทั่วน่านฟ้าหลายประเทศในยุโรป ส่งผลกระทบต่อการเดินทางทางอากาศ หลายประเทศต้องสั่งปิดน่านฟ้า และเที่ยวบินกว่า 63,000 เที่ยวถูกยกเลิก

4.แผ่นดินไหวจีน

เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 6.9 ถล่มเมืองอวี้ซู่ เขตปกครองตนเองของชาวทิเบตในมณฑลชิงไห่ ในเช้าวันที่ 14 เมษายน มียอดผู้เสียชีวิตกว่า 2,700 ราย บาดเจ็บกว่า 12,000 คน และสูญหายอีก 195 คน โดยรัฐบาลจีนต้องวางแผนจัดสรรงบประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการพื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ซึ่งมีบ้านเรือนเสียหายนับพันหลัง

5.น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ในอ่าวเม็กซิโก

แท่นขุดเจาะน้ำมันดีปวอเทอร์ ฮอไรซอน ของบริษัททรานส์โอเชียน ซึ่งขุดเจาะบ่อน้ำมันให้แก่บริษัทบีพี เกิดระเบิด และไฟไหม้ในวันที่ 20 เมษายน และจมลงสู่อ่าวเม็กซิโก 2 วันหลังจากนั้น ทำให้เกิดการรั่วไหลของน้ำมันครั้งใหญ่ ที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ แผ่ลามไปไกลตลอดแนวชายฝั่งมลรัฐมิสซิสซิปปี ลุยเซียนา แอละแบมา ฟลอริดา และเทกซัส และกลายเป็นวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของสหรัฐฯ ด้วย

6.น้ำท่วมปากีสถาน

ในเดือนสิงหาคม เกิดน้ำท่วมฉับพลันทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน และกินพื้นที่ราว 1 ใน 5 ของประเทศ ซึ่งทางสหประชาชาติ ระบุว่า เป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 80 ปี โดยยอดผู้เสียชีวิตพุ่งเกิน 1,760 ราย ขณะที่มีการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์ในบางพื้นที่ สร้างความทุกข์ร้อนให้กับประชาชนถึง 21 ล้านคน เนื่องจากเรือกสวนไร่นา และระบบสาธารณูปโภคได้รับความเสียหายอย่างมาก

7.วิกฤตตัวประกันฟิลิปปินส์

โรลันโด เมนโดซา มือปืน ซึ่งเป็นอดีตตำรวจสืบสวนสอบสวนของฟิลิปปินส์ ก่อเหตุบุกยึดรถบัส และจับนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงไว้เป็นตัวประกันในกรุงมะนิลา เป็นเวลาร่วม 12 ชั่วโมง สุดท้ายหน่วยสวาทก็ใช้กำลังบุกชาร์จวิสามัญคนร้าย แต่พลาดทำให้มีตัวประกันเสียชีวิต 7 ราย

โศกนาฏกรรมนี้ส่งผลให้ทางการฮ่องกง ตลอดจนผู้คนทั่วโลก พากันโกรธเคืองประสิทธิภาพการดำเนินงานช่วยเหลือตัวประกัน ที่ตำรวจและรัฐบาลฟิลิปปินส์แสดงให้โลกได้ประจักษ์ โดยเฉพาะในประเด็นว่า ฟิลิปปินส์ทำอย่างนี้กับคนฮ่องกงลงคอได้อย่างไร

8.ฮีโร่คนงานเหมืองชิลี

วิกฤตช่วยเหลือคนงานเหมืองในชิลีครั้งนี้เกือบต้องกลายเป็นโศกนาฏกรรม เมื่อปล่องขึ้นลงของเหมืองซานโฮเซ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงซันติอาโก ไปทางเหนือราว 800 กิโลเมตร เกิดพังทลายลงมา และต้องปล่อยให้คนงาน 33 ชีวิตติดอยู่ใต้ดินยาวนานถึง 69 วัน ตั้งแต่ 5 สิงหาคม จนกระทั่ง 13 ตุลาคม ปฏิบัติการกู้ภัยเพื่อนำพวกเขาขึ้นมาก็ประสบความสำเร็จเร็วกว่าที่คาดคิด และเป็นที่น่าภาคภูมิใจว่า ในทีมเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือนั้น มี 2 วิศวกรชาวไทยร่วมอยู่ด้วย

9.ภูเขาไฟ-สึนามิถล่มอินโดนีเซีย

ภูเขาไฟเมราปีในเกาะชวาของอินโดนีเซียเริ่มพ่นลาวา และส่งสัญญาณการปะทุครั้งใหญ่ ในวันที่ 23 ตุลาคม จนทางการต้องประกาศเตือนภัยขั้นสูงสุด โดยการระเบิดเป็นระลอกๆ นานเกือบ 2 เดือน ทำให้มีชาวบ้านเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 324 ราย และมีการอพยพประชาชนกว่า 200,000 คน

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเกิดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 7.7 ขึ้นในหมู่เกาะเมนตาวาอิ ทางตะวันตกของหมู่เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ในวันที่ 25 ตุลาคม ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิสูงถึง 3 เมตร ถล่มเข้าใส่หมู่บ้าน 10 แห่ง วิบัติภัยครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 282 ราย และสูญหายกว่า 400 คน

10.เหยียบกันตายเทศกาลน้ำในกัมพูชา

เทศกาลน้ำ ประเพณีที่ชาวกัมพูชายึดถือเอาคืนวันเพ็ญร่วมกันลอยทุ่นที่ประดับด้วยดวงไฟไปตามแม่น้ำ เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณ และแสดงความขอบคุณต่อแม่น้ำโขง กลับเกิดโศกนาฏกรรมเหยียบกันตายระหว่างการเฉลิมฉลองบนสะพานแห่งหนึ่งในกัมพูชา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 351 ราย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น